สถานที่เป็นที่สบาย หมายถึง มีที่พักอาศัยสะดวก ที่อยู่เหมาะสม บรรยากาศดี มีต้นไม้ร่มรื่น น้ำไฟสะดวก มีอากาศถ่ายเท ไม่มีเสียงอึกทึก มีบริเวณกว้างขวาง เป็นต้น
ซึ่งทางศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วเมืองเลยได้สร้างแนวอาคารและสิ่งปลูกสร้างให้ดูเรียบง่าย เฉดสีที่ใช้จะเป็นแนวคุมโทน ใช้สีที่ใกล้เคียงกัน สีที่ใช้จะเน้นสีน้ำตาลเป็นหลัก ไม่ใช้สีฉูดฉาดแสบตา มองดูแล้วสบายตา พาสบายใจ อีกทั้งยังมีการปลูกต้นไม้หลากพันธุ์ เพื่อเพิ่มความร่มรื่น อากาศปลอดโปร่ง เย็นสบายตลอดทั้งวัน เหมาะแก่การนั่งเล่น ชมนกชมไม้ เก็บอารมณ์สบาย พอตกกลางคืนบรรยากาศก็ดีไม่แพ้ที่อื่นเพราะไม่มีมลพิษทางเสียง เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม และการสร้างอาคารสถานที่ต่างๆในศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วเมืองเลย ยังเน้นในเรื่องการสร้างตามความจำเป็นในการใช้งาน โดยยึดหลัก “ประหยัดสุด ประโยชน์สูง และคงทนถาวร”
ท่านใดที่ได้ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และแรงทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความยากลำบาก เพื่อนำมาทำบุญสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างแต่ละหลังของศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วเมืองเลย และตราบใดที่สิ่งปลูกสร้างนั้นยังไม่พังทลาย ท่านผู้นั้นก็จะได้มีส่วนในบุญกับผู้ที่มาใช้สถานที่ในการฝึกฝนอบรมตนเอง ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นด้วย
อาคารแก้วสารพัดนึก (ศาลาปฏิบัติธรรม)
อาคารแก้วสารพัดนึก เป็นอาคารที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 384 ตารางเมตร สามารถรองรับคนได้ประมาณ 120-150 คน นอกจากนี้ภายในอาคารยังมีห้องทำงานของพระอาจารย์จำนวน 1 ห้อง ห้องรับรอง 1 ห้อง ห้องน้ำ 6 ห้องและห้องเก็บของ 1 ห้อง เป็นอาคารที่ใช้สำหรับปฏิบัติธรรมและจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น พิธีทอดผ้าป่า พิธีทอดกฐิน วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา จัดงานบวชพระ-เณร จัดอบรมพระ-เณรนวกะ และจัดอบรมศีลธรรมนักเรียน เป็นต้น
อาคารคลังสมบัติแก้ว
วัตถุประสงค์ในการสร้างอาคารคลังสมบัติแก้ว เพื่อใช้สำหรับเก็บของและอุปกรณ์ต่างๆของศูนย์ อาคารมีขนาดพื้นที่ประมาณ 336 ตารางเมตร ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นห้องผ้าอาภรณ์แก้ว เป็นผ้าที่ใช้ในงานบุญต่างๆ ส่วนที่ 2 เป็นห้องเก็บอุปกรณ์ที่ใช้ในการอบรม และส่วนที่ 3 เป็นห้องเก็บอุปกรณ์เครื่องมือช่าง
หอฉันคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงและครัวแก้ววิมาลี
หอฉันคุณยายอาจารย์ฯและครัวแก้ววิมาลี เป็นอาคารที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 672 ตารางเมตร ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนใช้เป็นที่ขบฉันภัตตาหารพระภิกษุ สามเณรและใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนศูนย์ ส่วนชั้นล่างใช้เป็นห้องปฏิบัติธรรม ซึ่งรองรับคนได้ประมาณ 20-30 คน และใช้เป็นห้องรับรองเจ้าภาพ
สะพานแก้วจันทรา
วัตถุประสงค์ในการสร้างสะพานแก้วจันทรา เพื่อเชื่อมทางเดินจากหอฉันฯไปอาคารแก้วสารพัดนึก และเพื่อใช้ทำกิจกรรมนอกสถานที่ต่างๆ เช่น ใช้จัดตักบาตร ใช้เป็นที่ออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มาปฏิบัติธรรมที่ศูนย์ และใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมหล่อหลอมต่างๆ รวมไปถึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของแขกผู้มาเยือนศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วเมืองเลย เป็นต้น ทั้งสองข้างทางตลอดแนวสะพานร่มรื่นไปด้วยต้นยางเขียวชอุ่ม ไม่ว่าท่านใดที่เดินผ่านไปมา จะรู้สึกสดชื่น เย็นสบาย ผ่อนคลาย เพราะอากาศบริสุทธิ์
สะพานแก้วธารา
วัตถุประสงค์ในการสร้างสะพานแก้วธารา เพื่อเชื่อมทางเดินจากอาคารพุทธบุตรแก้วไปอาคารแก้วสารพัดนึก และเพื่อใช้ทำกิจกรรมนอกสถานที่ต่างๆ เช่น จัดตักบาตร และใช้เป็นทางเดินริ้วขบวนผ้าป่า ขบวนกฐิน เป็นต้น ทั้งสองข้างทางตลอดแนวสะพานร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย แก่ผู้แขกมาเยือน
อาคารพุทธบุตรแก้ว
วัตถุประสงค์ในการสร้างอาคารพุทธบุตรแก้ว เพื่อใช้เป็นที่พักพระภิกษุ สามเณรประจำศูนย์ รวมไปถึงญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมที่ศูนย์ และใช้เป็นสถานที่อบรมเยาวชนและสามเณรในช่วงปิดภาคเรียน เป็นอาคาร 2 ชั้นครึ่ง มีขนาดพื้นที่ประมาณ 448 ตารางเมตร สามารถรองรับคนได้ประมาณ 80 คน ซึ่งในแต่ละชั้น มีทั้งห้องน้ำในตัวและห้องน้ำรวม มีลานสรงน้ำและลานซักตาก มีห้องพักรวมใหญ่ ทั้งหมด 7 ห้อง
แนวคิดศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วเมืองเลย
ศูนย์ปฏิบัติธรรมแก้วเมืองเลย ใช้หลักสัปปายะสี่คือ สถานที่ อาหาร บุคคล ธรรมะ - ร่มรื่น เหมาะสมในการนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม พักกาย พักใจ สั่งสมบุญ